ROI คืออะไร เรามาดูวิธีการคำนวณ ROI ที่ถูกต้องกันเถอะ
โลกของธุรกิจเป็นโลกแห่งการวัดค่าและการเทียบผลตอบแทน ซึ่งวิธีวัดค่าการลงทุนก็มีหลากหลายมากไม่ว่าจะเป็น NPV IRR หรือ ROAS แต่โดยรวมแล้วนักการตลาดส่วนมากจะนิยมใช้ค่า ROI หรือที่เรียกว่า Return on Investment เป็นตัววัดผลครับ
ในวันนี้เรามาศึกษากันว่า ROI คืออะไร คำนวณยังไง และใช้ทำอะไรได้บ้าง
ROI คืออะไร
Return on Investment (ROI) คือตัวเลขที่แสดงถึงผลตอบแทนของการลงทุน นิยมใช้ในการวิเคราะห์การลงทุนการตลาด ROI สูงเท่ากับว่ากำไรเยอะถ้าเทียบกับทุนที่ลงไป ROI ใช้ในการเปรียบเทียบการลงทุนต่างๆ เพื่อเลือกการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดได้
ยกตัวอย่างเช่น ROI = 0.5 (หรือบางคนอาจจะบอกว่า ROI = 50%) แปลว่าทุกๆ 1 บาทที่เราใส่เข้าไป เราจะได้ผลตอบแทนกลับมา 1.5 บาท หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือกำไร 50% ถ้าสมมุติว่าถ้า ROI = 2 (หรือ ROI = 200%) ก็เท่ากับว่าทุกๆ 1 บาทที่เราใส่ไปเราจะได้กำไร 2 บาท (กำไร 2 บาทเท่ากับได้เงินมา 3 บาท ลบ 1 บาทในการลงทุน)
สาเหตุที่คนนิยมใช้ ROI ก็เพราะว่า ROI เป็นตัวเลขที่คำนวณและสื่อสารได้ง่าย หากเราลงเงินไปหนึ่งก้อน เราจะได้เงินกลับมาใส่สัดส่วนเท่าไร? ในบริบทของการตลาดหรือการลงทุนแล้ว การเปรียบเทียบตัวเลขพวกนี้ของแต่ละโปรเจคก็จะทำให้เราเลือกวิธีหรือช่องทางที่ทำให้เราได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดได้
วิธีคำนวณ ROI
ROI ก็คือสัดส่วนของกำไรต่อค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการลงทุน วิธีคำนวณ ROI สามารถดูได้ข้างล่างนี้เลยครับ
Return on Investment หรือ ROI = (กำไร ÷ ต้นทุน) x 100%
และ
กำไร = รายรับ – เงินลงทุนทั้งหมด
ความหมายของ ‘กำไร’ ก็คือกำไรรวมที่รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว เช่นค่าสินค้า ค่าการตลาด ค่าจ้างพนักงาน และต้นทุนหรือเงินลงทุนก็คือเงินก้อนที่ใช้ในการลงทุนโปรเจคนั้นๆ
การใช้ ROI เพื่อจัดลำดับความสำคัญของการลงทุน
นอกจากนั้นแล้วเรายังสามารถใช้ ROI เพื่อจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนได้อีกด้วย เพราะไม่ใช่ทุกธุรกิจที่จะมีเงินลงทุนและทรัพยากรไม่จำกัด ในความเป็นจริงธุรกิจอาจจะมีเงินลงทุนแค่ 1 หรือ 2 ก้อนเท่านั้น
ตามหลักของการลงทุน ถ้าเรามีเงินและมีทรัพยากรไม่จำกัดเราก็ควรทำทุกโปรเจคที่ได้กำไร ไม่ว่า ROI จะน้อยแค่ไหน แต่ในโลกความเป็นจริงมันคงทำไม่ได้
เพราะฉะนั้นเจ้าของธุรกิจก็ต้องวิเคราะห์ ROI ของโปรเจคที่น่าลงทุนทั้งหมดและเลือกแค่ไม่กี่โปรเจคที่จะทำ จากข้อจำกัดเรื่องเงินลงทุน เวลา หรือจำนวนพนักงานเป็นต้น
และเพื่อที่จะทำให้เราดู ROI ได้ชัดเจนกว่าเดิม บางคนอาจจะนำ ROI มารวมกับการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้วยก็ได้ยกตัวอย่างเช่น การลงทุน A มีโอกาส 40% ที่จะได้ ROI มากกว่า 2 (ได้กำไร) มีโอกาส 30% ที่จะได้ ROI เท่ากับ 0 (เท่าทุน) และก็มีโอกาสอีก 30% จะได้ ROI ต่ำกว่า 0 (ติดลบหรือขาดทุน) เป็นต้นครับ
ข้อเสียของการใช้ ROI
ROI คือตัววัดกำไรจากการลงทุนในระยะเวลาระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เท่ากับว่าการวิเคราะห์ผลลงทุนด้วย ROI จะไม่สามารถใช้ดูภาพรวมของการลงทุนได้ทั้งหมด แต่มันหมายความว่ายังไงกันนะ?
ปัญหาแรกที่ธุรกิจอาจจะเจอก็คือ บางครั้ง ROI ในระยะยาวอาจจะสูง แต่ในระยะสั้นนั้น โปรเจคนี้ต้องใช้เงินลงทุนเยอะทำให้อาจจะมีปัญหาเรื่องการระดมทุนหรือเรื่องการหมุนเงินในระยะสั้น
และแน่นอนว่า ROI เป็นแค่หนึ่งในเครื่องมือวิเคราะห์ผลการลงทุนเท่านั้น เท่ากับว่าโอกาสที่จะวิเคราะห์ผิดหรือถูกขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นฝีมือของคนวิเคราะห์ หรือปัจจัยที่เกี่ยวกับตอนปฏิบัติทำโปรเจคเช่นปัจจัยภาครัฐหรือปัจจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมภายนอกเป็นต้น
ข้อแนะนำสำหรับการใช้เครื่องมือนี้ก็คือเราควรที่จะใช้เครื่องมือวิเคราะห์ผลตอบแทนอื่นๆในการประกอบการตัดสินใจด้วยยกตัวอย่างเช่น NPV (Net Present Value) หรือ IRR (Internal Rate of Return) เป็นต้น
หากท่านสนใจระบบจองห้องประชุมสามารถดูระบบทั้งหมดของ SPLITR SMART MEETING ROOM ได้ที่นี่เลย>> คลิกเพื่ออ่าน